ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ชวนคิดชวนมอง NEXT FROM NOW


 

NEXT : เด็กจะใช้ชีวิตให้อยู่ดีมีสุขได้อย่างไร ในโลกอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านกายภาพที่มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากมาย สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรงและการตัดสิน รวมไปถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็วในการเข้าสู่ยุคดิจิทัล  

NOW : ชวนกันมาทบทวนชีวิตในปัจจุบัน เรามีต้นทุนอะไรบ้างและเพิ่มทุนอะไรได้ เพื่อเป็นการสร้างอนาคตอย่างมีกรรมคือการกระทำที่จะทำให้ชีวิตเดินต่อไปได้แบบที่ลูกมีภูมิคุ้มกันความสุขและความทุกข์

ความสุขคืออะไร 

คำตอบย่อมมีหลากหลายขึ้นกับการให้ความหมายในการมีชีวิตของแต่ละคน และในความคิดของคนหลายคนเราไม่จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันความสุข เพราะความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการแต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันความสุขให้กับลูกเช่นกัน เพราะการเพลิดเพลินกับความสุขทำให้คนไม่สามารถตั้งรับกับความทุกข์ที่ต้องเจอได้ และถ้ามองไปที่ความทุกข์นั่นก็คือด้านตรงข้ามของความสุข จึงอยากชวนคิวชวนมองนิยามความทุกข์ในแง่มุมของพุทธศาสนาเพื่อที่จะทำให้เห็นความสุขและความทุกข์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  

'แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์

แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์'

ทุกข์แบบนี้เราคงคุ้นเคยว่าเป็นความทุกข์อยู่แล้ว เว้นแต่การเกิดที่เราอาจมองไม่เห็นว่าแฝงความทุกข์มาแล้วตั้งแต่ต้น แต่ทุกข์แบบที่จะอ่านต่อไปนี้เป็นสิ่งที่คนเรามักคิดไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความทุกข์

‘ความประสพพบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์  

ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์  

มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์’

อะไรที่ใจเรายอมรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงนั้น  ล้วนเป็นความทุกข์ แต่เมื่อใดที่ใจเรายอมรับได้ ทุกข์จะกลายเป็นพ้นทุกข์ได้ทันทีด้วยความคิดที่ถูกต้อง ความสุขง่ายๆ จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวเราและผู้อื่น จุดนี้คือการเติบโตทางจิตวิญญาณที่ชุดความรู้นี้นำมาเป็นเครื่องมือให้ 'ผู้นำแห่งสติ' สอบให้ผ่านทุกด่านของชีวิต แล้วรวมพลังกัน...สร้างโลกโดยผ่านลูก

ผู้นำแห่งสติ

โปรแกรมพัฒนาผู้นำแห่งสติในชุดความรู้นี้ มิใช่เริ่มจากการคิดจะไปนำใครหรืออบรมเพื่อให้ใครไปนำใคร แต่เริ่มจากการชวนให้พ่อแม่ได้ตระหนักรู้ในสุขทุกข์ของตนเองและผู้อื่น เข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองจากการเป็นทาสของอารมณ์ที่อึดอัดหนักอึ้งและผลักดันให้เราขาดสติจนมีการคิด พูด ทำ สิ่งที่ทำร้ายตัวเองและคนอื่น เป็นการเชิญชวนให้พ่อแม่เปลี่ยนจาก ‘เหยื่อเป็นหยุด’ เหยื่อในทีนี้หมายถึงการที่พ่อแม่ตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของตนเองและลูกก็เป็นเหยื่อจากการกระทำตามอารมณ์ของพ่อแม่ มาเป็นหยุดคือการหยุดภาวะอารมณ์ด้วยการกลับมาสติรู้เท่าทันตนเอง นี่คือจุดสำคัญที่จะทำให้คนพัฒนาตนให้เป็นนายเหนืออารมณ์ ผู้นำแบบนี้จึงจะเป็นผู้นำที่สามารถสร้างครอบครัว สร้างลูก สร้างองค์กร สร้างสังคม ที่อยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกันได้


 กลุ่มเป้าหมายของชุดความรู้

1. พ่อแม่ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้เป็น 'ผู้นำแห่งสติ' 

2. องค์กรที่ต้องการโปรแกรมพัฒนาบุคลากรที่เป็นพ่อแม่ให้เป็น 'ผู้นำแห่งสติ' 

3. กระบวนกรที่ทำงานกับกลุ่มพ่อแม่และครอบครัวที่ต้องการพัฒนาตนเองให้เป็น 'ผู้นำแห่งสติ' 


เคล็ดลับการออกแบบการเรียนรู้อย่างมีความสุข

ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถานให้แนวทางที่เป็นเคล็ดลับในการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างศานติไว้ว่า  

‘คนสมัยนี้มีความเครียดและใช้ชีวิตภายใต้ความกดดัน  การเรียนรู้ใดๆ ต้องทำให้เขามีความสุขสบายก่อน  ทำอย่างไรก็ได้ให้เขารู้สึก โล่ง โปร่ง เบา เป็นอันดับแรก’

เมื่อใจเปิดกว้าง การพัฒนาจิตให้ละเอียดอ่อนและเปลี่ยนสู่สภาวะความสุขระดับสูงขึ้นจะตามมา ตามแนวทางของเสถียรธรรมสถานที่นิยามการปฏิบัติการสร้างความสุขด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนาสามารถสร้างความสุขได้ 4 ระดับ (1) สนุก (2) สบาย (3) สงบ (4) สันติ

 สนุก  ทำให้คนเกิดประสบการณ์ทางกายผ่านอายตนะ 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ใช้เทคนิคที่หลายหลายตรงตามจริตของคนเพื่อทำให้เกิดผัสสะอารมณ์และความคิดที่สนุกเพื่อเป็นการจูงจิตสู่การฝึกสติและสมาธิแบบง่าย เข้าใจและเข้าถึงคนทุกวัย

 สบาย ใช้หลักสัปปายะ 7 (อาวาสสัปปายะคือที่อยู่ที่เหมาะสม, โคจรสัปปายะคือการเดินทางและชุมชนที่เหมาะสม, ภัสสสัปปายะคือการพูดคุยที่เหมาะสมควรแก่การสร้างความรู้, ปุคคลสัปปายะคือบุคคลที่มีความรู้ที่เหมาะสมมีทักษะในการให้ปัญญา, โภชนสัปปายะคืออาหารที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ, อุตุสัปปายะคืออากาศและธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะสม, อิริยาปถสัปปายะคือการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมพอเหมาะพอดี) ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เกื้อกูลให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เปิดใจในการเรียนรู้และใช้วิถีชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงเป็นการพัฒนาจิตได้

สงบ  ความเงียบกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนในเมืองใหญ่โหยหาเพื่อกลับมาอยู่กับลมหายใจของตนเอง ช้าลงสักนิด ไม่ต้องกังวลกับการถูกเปรียบเทียบและตัดสินว่า ดี-ชั่ว ถูก-ผิด สวย-หล่อ หนุ่มสาว-แก่ชรา เก่งกาจ-อ่อนด้อย  สงบแรกคือกายวิเวก คือการได้อยู่กับตัวเองอย่างปราศจากความวุ่นวาย สงบที่สองคือจิตวิเวกไ่ม่ยึดติดกับอารมณ์ที่ผ่านมาและผ่านไปเมื่อใจกระทบก็ไม่กระเทือนกับอารมณ์ที่มากระทบ  สงบที่สามคืออุปธิวิเวกไม่ยึดติดกับความเอาถูกเอาผิด เปิดใจกว้างละวางอคติ เรียนรู้โลกภายนอกและโลกภายในตนเองอย่างเข้าใจว่าเป็นเพียงแค่ประสบการณ์เพื่อการพัฒนาจิตใจ

สันติ   การกลับไปอ่อนโยนและเข้าใจกับความเจ็บปวด ความกลัว ความวิตกกังวลในใจตนเอง ยอมรับความไม่น่ารักความผิดพลาดของตนเองอย่างพร้อมแก้ไข เพื่อทำให้เกิดสันติในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น สิ่งอื่น หรือแม้แต่ธรรมชาติที่โอบล้อมเรา พัฒนาจิตใจให้มีความเป็นมิตรกับตัวเอง เป็นมิตรกับคนอื่น จนยอมรับความแตกต่างคุณสมบัติทางจิตเหล่านี้จะทำให้ใจเราเบาลงเพราะไม่มัวส่งใจไป เอ๊ะ! และ ทำไม? กับทุกเรื่องที่เกินจำเป็น

 

 Next page








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เป้าหมายในการสร้างผู้นำแห่งสติ

 3 กลุ่มทักษะของผู้นำแห่งสติ  ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างผู้นำแห่งสติของโครงการขับเคลื่อนครอบครัวอบอุ่นด้วยสติในองค์กรมุ่งการพัฒนาทักษะพื้นฐานในการใช้ชีวิตและการทำงาน (Skills for Life) 3 ด้าน ได้แก่ 1. ทักษะการดำรงชีวิตประจำวัน (Daily Life Skills) เป็นทักษะในการดูแลตนเองทางด้านการกิน นอน พักผ่อน ความปลอดภัย และการเงิน  2. ทักษะชีวิต (Life Skills) เป็นทักษะในการอยู่ร่วมกันด้วยสติ ได้แก่ การตระหนักรู้ (Awareness)  การเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ความร่วมมือ (Collaboration) การโน้มน้าวใจ (Communication) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การปรับตัว (Adaptation) และการบริหารเวลา (Time Management)  3. ทักษะความรอบรู้ (Literacy Skills) เป็นทักษะเพื่อการอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ได้แก่ ทักษะความรอบรู้ด้านสื่อ (Media Literacy) และความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) 3 คุณสมบัติของผู้นำแห่งสติ  ผู้นำแห่งสติ หมายถึง ผู้ที่สามารถพาตนให้รอดพ้นจากความทุกข์ได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้ชักชวนผู้คนทุกเพศวัยให้เข้ามาฝึกตนให้มีคุณสมบัติ 3 ข้อนี้

โปรแกรมครอบครัวแห่งสติ สร้างลูก สร้างโลก

 โปรแกรม ครอบครัวแห่งสติสร้างลูกสร้างโลก   โปรแกรมครอบครัวแห่งสติสร้าางลูกสร้างโลก เป็นโปรแกรมที่ประกอบด้วยหลักสูตรย่อยทั้งรูปแบบ on land  online, on site และ hybrid เพื่อการออกแบบชีวิตที่อยู่ดีมีสุขด้วยสติ (Mindful Wellness Lifestyle) สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีลูกตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงลูกอายุ 14  ปี ที่เรียกว่า 'กลุ่มสร้างลูก'   เนื้อหาของหลักสูตร ภายในโปรแกรมออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนที่มีลูกที่ต้องการเตรียมตัวทั้งตนเองและลูกให้เกิดภูมิคุ้มกันชีวิต จนสามารถสร้างชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์แบบมีสุขภาวะดีทั้ง กาย ใจ จิตวิญญาณ (Wellness Lifestyle) โดยชวนให้เตรียมตัวเองล่วงหน้าให้มีไลฟ์สไตล์แบบพึ่งตัวเองได้ทั้งกาย ใจ และเศรษฐกิจ มีความพร้อมในการดูแลสมาชิกครอบครัวและเป็นผู้ให้ในบทบาทของพ่อแม่และคนทำงานในองค์กร สามารถเป็นที่พึ่งทางใจ ให้สติ และชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาชีวิตอย่างมีสติ ให้แก่กับลูก คนในครอบครัว เพื่อนในที่ทำงานได้ และเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตให้ผ่านยุคดิสรัปชั่นจากวิกฤติโควิด-19 เข้าสู่สังคมยุค New Normal-Now Normal ได้อย่างมีความสุข วิทยากรจิตอาสา ที่มาร่วมพัฒนาโปรแกร

ทฤษฏีที่นำมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้

  ทฤษฏีที่นำมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เสถียรธรรมสถาน เป็น 'ชุมชนแห่งการเรียนรู้(Learning Community) เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างศานติ โดยมีพุทธรรมเป็นรากฐาน' ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2530 โดยท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต มีแนวคิดในการออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner Oriented) และใช้ศิลปะในการออกแบบการเรียนรู้แบบเกลียวเชือก โดยจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลาย  ให้สอดคล้องกับจริตของผู้เรียนที่แตกต่างกัน จนเกิดเป็นศิลปะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า 'มองนอก ดูใน' เพื่อให้ผู้เรียนใช้ประสบการณ์ภายนอกน้อมนำให้เกิดประสบการณ์ภายในจนนำไปสู่การพัฒนาจิตใจได้ด้วยทฤษฎีการเรียนรู้ 3 ด้าน ได้แก่   1.พุทธศาสตร์   ใช้หลักไตรสิกขา อริยสัจ  ปฏิจจสมุปบาทและธรรมประกอบกัน เช่น อุปกิเลส  อริยมรรค  อินทรีย์ภาวนา สัปปุริสธรรม สัปปายะ ขันธ์ 5 ภาวนา 4  อิทธิบาท 4 พรหมวิหาร 4 เป็นต้น  มาสื่อสารแบบร่วมสมัยเน้นการถ่ายทอดความรู้แบบ 'ทำของยากให้ง่าย' ใช้ภาษาเรียบง่ายและเข้าถึงคนทุกวัย   2.วิทยาศาสตร์   ใช้หลัก Brain-Based Learning (BBL) มาออกแบบประสบการณ์เพื่อทำให้เกิดกิจกรรม